ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
|
ชาติกำเนิด
เป็นบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก บรรพบุรุษของท่านเป็นพราหมณ์ชื่อสิริวัฒนะรับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งราปุโรหิต บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดวันพุธเดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๘ ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออกซึ่งปัจจุบันเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (คือบริเวณสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทย)
การศึกษา
ได้รับการศึกษาตามแบบบุตรหลานขุนนางซึ่งสันนิษฐานว่าศึกษาอักษรสมัย ในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บุคลิกลักษณะ ท่านเป็นผู้เข้มแข็ง เฉียบขาด อดทน เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความละเอียดรอบคอบและเข้าใจบุคคลอื่น รู้เท่าทันเหตุการณ์ รับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยบิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นเสมอใจราช ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวา เมื่อกลับจากรับราชการที่เมืองเขมรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชโยธา และต่อมาได้เป็นพระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนา ฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยลำดับจาก พระยาราชสุภาวดี เป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก และเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาสมุหนายก ในขณะที่ท่านมีอายุ ๕๓ ปี
ผลงาน
-
ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทร์ พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒
-
สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐
-
สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐
ในด้านการทูตและการเมือง
ท่านมีความสามารถในการเจรจาโต้ตอบเชิงการทูต ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำสงครามเพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยไม่ต้องใช้กำลัง เช่นการเจรจาปล่อยญวนที่เมืองโพธิสัตว์ เจรจาปัญหาญวน เกลี้ยกล่อมเขมรและการแต่งตั้งพระองค์ด้วงไปปกครองเขมร
ในด้านเศรษฐกิจ
ท่านสามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจแตกสลายของเขมรในช่วงการทำสงครามติดต่อกันถึง ๑๔ ปี โดยการหาเสบียงอาหารให้เพื่อบรรเทาความขาดแคลน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรทำนา ไม่ได้ผลก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ก็จะโปรดยกเว้นไม่เก็บค่านา แม้แต่การจัดหาตุ่มใส่น้ำให้เขมรที่เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านก็ยังเอาใจใส่ไม่ละเลย
ในด้านรักษาความสงบเรียบร้อย
ท่านได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทำการดูแลเมืองเขมร ซ่อมแซมป้อมค่ายเมืองพระตะบอง สำหรับใช้เป็นฐานกำลังของไทยที่จะคุมเชิงและควบคุมเขมรในความสนับสนุนของพระองค์ด้วง กษัตริย์ของเขมรโดยเอาใจใส่ตรวจตราดูแลความมั่นคงและปลอดภัยให้และจัดการสร้างเมืองอุดงมีชัย มีการขุดคูเมืองเชิงเทินสร้างป้อมค่ายให้แข็งแรง ท่านนำนโยบายห้ามสูบฝิ่นซื้อขายฝิ่นไปใช้ในเขมรอันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ท่านจะกวดขันห้ามปรามเมื่อจับจะทำโทษอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่บุตรของท่าน
อสัญกรรม
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๒ ด้วยโรคปัจจุบัน (อหิวาตกโรค) ที่บ้านริม คลองโอ่งอ่าง (บริเวณเชิงสะพานหันกับบ้านดอกไม้) รวมสิริอายุ ๗๒ ปี ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนุสรณ์สถาน
จากผลงานและคุณความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึงพระคุณของท่านหลายแห่ง ดังนี้
-
เมืองอุดงมีชัย ประเทศเขมร
-
วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
-
วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
-
ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ อ.มะขาม จ.จันทบุรี
-
ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
-
ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ ๑๖ อ.เมือง จ.ยโสธร
-
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
-
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
-
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
-
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
-
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
-
พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
-
ฯลฯ
|